[ เที่ยวจอร์เจีย ด้วยตัวเอง Ep.1] รู้จัก จอร์เจีย และตอบคำถามที่ทุกคนสงสัย

เทือกเขาคอเคซัส เป็นชื่อที่เราได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ชื่อที่บอกว่าตรงนี้เป็นที่ที่ ทวีปยุโรป และ ทวีปเอเชียมาบรรจบกัน เราได้ยินชื่อเสียงของดินแดนคอเคซัสมาแสนนาน ทั้งความสวยงาม วัฒนธรรมที่อยู่มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนได้มีโอกาสมาเยือน หนึ่งประเทศที่เป็นดั่งเพชรเม็ดงามในดินแดนแห่งนี้ นั่นก็คือ “จอร์เจีย

ก่อนที่จะพาไป เที่ยวจอร์เจีย เราอยากให้ทุกคนทำความรู้จักกับจอร์เจียกันซักนิดนึงก่อน เราจึงรวบรวมคำถามที่ถูกถามกันมาเยอะมากในเมสเสจของเพจ และ อธิบายให้ทุกคนฟังอย่างละเอียด มาทำความรู้จักประเทศนี้ให้มาขึ้นกันค่ะ


1. จอร์เจีย อยู่ตรงไหนของโลก?

จริงๆ จอร์เจีย (Georgia) เนี่ย เป็นทั้งชื่อของประเทศ และ ชื่อของรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่คนละมุมโลกเลย เวลาเราหาข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ ข้อมูลของรัฐจอร์เจียก็อาจจะขึ้นมา ต้องเขียนว่า Georgia Country เพื่อระบุว่าเรากำลังหาประเทศ หรือ เขียนชื่อเมืองในประเทศจอร์เจียไปเลยก็ได้

แล้วจอร์เจียอยู่ในยุโรป หรือ เอเชีย ? คำถามนี้เป็นประเด็นคล้ายกับตุรกีและประเทศอื่นๆ ใกล้เคียง จริงๆ แล้ว ประเทศแถบนี้เรียกว่าเป็นประเทศ transcontinental ค่ะ คืออยู่ทั้งสองทวีป แล้วแต่ว่าจะใช้อะไรเป็นหลักการ เช่น ถ้าใช้หลักการทางภูมิศาสตร์ ว่าขอบของแผ่นทวีปยุโรปสุดที่เทือกเขาคอเคซัส ประเทศจอร์เจีย จะถือว่าอยู่ในทวีปเอเชียทันที แต่หากมองเรื่องการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วัฒนธรรม แม้แต่การแข่งกีฬา หลายครั้งจอร์เจียจะอยู่ในฝั่งยุโรปค่ะ

ส่วนตัวเรามองว่าจอร์เจียมีความเป็นยุโรปมากกว่า ทั้งสภาพบ้านเรือน วัฒนธรรม ผู้คน ขนาดกระทรวงการต่างประเทศไทยยังใส่จอร์เจียไว้ในกรมยุโรปเลยค่ะ

บรรยากาศย่าน New Tiflis ใน Tbilisi

เมืองหลวงของจอร์เจีย มีชื่อว่า Tbilisi อ่านว่า ทบิลิซี่ ค่ะ ส่วนอีกเมืองใหญ่ชื่อว่า Batumi เป็นเมืองท่าที่ค่อนข้างโมเดิร์น แต่เราไม่ได้ไปในทริปนี้ค่ะ

จอร์เจีย มีชายแดนทางเหนือติดรัสเซีย ทางใต้ติดตุรกี อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน และมีทะเลดำอยู่ทางซ้าย ทะเลแคสเปี้ยนอยู่ทางขวา เคยเป็นสหภาพโซเวียตมาก่อน

จริงๆ ในจอร์เจีย ยังมีดินแดนที่ยังมีปัญหาอย่าง South Ossetia ซึ่งเคยทำสงครามกับรัสเซียเมื่อนานมาแล้ว เท่าที่เราเช็คข่าวและข้อมูลมา ก็ไม่เคยมีเหตุการณ์อะไรที่กระทบนักท่องเที่ยวนะคะ ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาวรัสเซียยังเป็นนักท่องเที่ยวหลักในจอร์เจียอีกด้วยค่ะ ไปทางไหนก็มีแต่นักท่องเที่ยวรัสเซีย

เวลาที่จอร์เจียช้ากว่าไทย 3 ชั่วโมงค่ะ


2. สถานที่ท่องเที่ยวในจอร์เจียเป็นแบบไหน

ที่นี่ เป็นที่ที่คุณจะเที่ยวแบบไหนก็ได้ ทั้งสายศิลปะวัฒนธรรม สายประวัติศาสตร์ สายฮิปสเตอร์ สายธรรมชาติ และ สายกินดื่ม

เริ่มจากสายศิลปะวัฒนธรรม : จอร์เจียเป็นดินแดนคริสต์ออโธดอกซ์ ทำให้มีโบถส์สวยๆ ตั้งแต่ยุคกลางที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า ที่ตั้งตรงนั้นเป็นทางผ่านของอิทธิพลศิลปะมากมาย ตั้งแต่ เมโสโปเตเมีย อนาโตเลีย เปอร์เซียน โรมัน ไปจนถึง ไบแซนไทน์ จนมาถึงยุคกลางที่ศิลปะทางศาสนา ได้พัฒนาขึ้นมา รวมไปถึงศิลปะตะวันออกกลางอีกด้วย

สายประวัติศาสตร์ : มีทั้งประวัติศาสตร์จริงจัง แบบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่ยุคเหล็ก 8 ศตวรรษก่อนคริสต์กาล ไปจนถึงประวัติศาสตร์การเมืองต่างๆ ประเทศจอร์เจีย ยังเป็นบ้านเกิดของผู้นำที่มีอิทธิพลระดับโลกอย่าง โจเซฟ สตาลิน อีกด้วย

สายฮิปสเตอร์ : คือจริงๆ เราอินกับจอร์เจีย ก็เพราะ เวลาเห็นพวกแฟชั่นนิสต้ามางาน แฟชั่นวีคที่ทบิลิซี่ เนี่ยแหล่ะ เมืองทบิลิซี่นี่เรียกได้ว่าเป็นจุดเช็คอินลงไอจี ของสาวสวย หุ่นนางแบบ จากรัสเซียเลยนะคะ แล้วที่นี่ก็ฮิปมากจริงๆ การตกแต่ง งานดีไซน์ ดีไปหมด

สายธรรมชาติ : การตั้งอยู่ติดกับเทือกเขาคอเคซัส ทำให้ที่นี่มีวิวเทือกเขาสูงสุดตระการตา ที่นี่นักเดินทางสายธรรมชาติหลายๆ คนมักจะมาเดิน trek (ซึ่งเราไม่ใช่สายนั้นเลย เราเน้นไปแบบรถขับไปถึง) แต่ทั้งภูเขาหิมะ ลำธารสีฟ้า ทุ่งหญ้ากว้าง มีให้เห็นทั่วไปในจอร์เจีย ทั้งเมือง Mestia, Svaneti จริงๆ แล้ว จอร์เจียเป็นที่ตั้งของยอดเขาที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของยุโรป รองจากยอดเขา Elbrus และ Dykh-Tau แถมยังครองอันดับที่ 5 (Mount Kazbeg) อันดับที่ 6 (Tetnuldi) และ อันดับที่ 9 (Ushba) ตามด้วยยอดเขาที่สูงที่สุดของสวิสเซอร์แลนด์มาเป็นอันดับที่ 10

สายกินดื่ม : จอร์เจียคือที่แรกในโลกที่มีหลักฐานการทำไวน์ที่เก่าแก่กว่า 8000 ปี เราแฮปปี้กับเมืองทบิลิซี่มาก ที่มีคัลเจอร์ไวน์บาร์ ทุกมุมถนน หาง่ายกว่าเซเว่นในเมืองไทย นอกจากนี้ จอร์เจียยังมี เครื่องดื่มตระกูลวอดก้าเป็นของตัวเอง ชื่อว่า Cha Cha และ ความเป็นประเทศเกษตรกรรมทำให้มีผลไม้ทานมากมาย เรายังชอบอาหารจอร์เจียอีกหลายอย่าง ถือว่าค่อนข้างทานง่าย และราคาไม่แพงเลย


3. ไปยากมั้ย ปลอดภัยรึป่าว?

ไปไม่ยากค่ะ ขึ้นเครื่องบิน ไปถึงก็ลงไปสนามบิน นั่งรถเข้าเมือง เที่ยวตามจุดต่างๆ ได้เลยจ้า

ตามแพลนที่เราไปคือ ถ้าอยู่ในเมือง ก็นั่งบัสกับใต้ดิน เปิดกูเกิ้ลแมพหาสายรถบัสและรถไฟใต้ดินได้เลย ออกนอกเมืองเราขับรถล้วนๆ ถนนสายหลักเป็นสี่เลนส์ ขับสบายๆ ไม่มีมอเตอร์ไซค์ การขับรถถือว่าขับง่ายกว่าไทยและอิตาลีโดยทั่วไป ส่วนถนนที่ไปสายธรรมชาติ เป็นถนนสวนเลน มีบางช่วงที่ถนนเป็นหลุมนิดนึงๆ สกิลการขับง่ายกว่าทางเชียงใหม่ไปเชียงรายเยอะ แต่ถ้าไม่ขับรถ เค้ามีรถมินิแวน กับ แท๊กซี่ให้บริการอยู่เยอะเลยค่ะ

พูดถึงเรื่องความปลอดภัย เรารู้สึกปลอดภัยมากๆ แม้เดินเล่นตอนกลางคืน ในเมืองเก่าทบิลิซี่จะมีบางซอยที่ดูมืด แต่เนื้อที่มันไม่ใหญ่ เดินจากที่นึงไปอีกที่นึงไม่ไกล สำหรับถนนหลักๆ ก็สว่าง คึกคัก เดินได้ มีใกล้ๆ สถานีรถไฟ ที่บางทีมีเด็กขอทานมาขอตังค์ แต่เราก็เดินผ่านๆ ไป เค้าก็ไม่มายุ่งอะไรกับเรา

ส่วนเรื่องความขัดแย้งเรื่องดินแดนกับรัสเซีย ทำให้มีประท้วงบ้าง ตึงๆ ใส่กันบ้าง จะบอกว่า ตอนเราไปเที่ยว เราไม่รู้สึกเลย เค้ามีกลุ่มประท้วงเรื่องเกย์กัน เราก็ไม่รู้เรื่อง มาเปิดเจออีกทีในข่าว เรื่องพวกนี้ค่อนข้างไกลตัวนักท่องเที่ยว และไม่ค่อยเกิดขึ้นในแหล่งท่องเที่ยว อีกอย่าง นักท่องเที่ยวหลักของจอร์เจีย ก็คือชาวรัสเซียเองนี่แหล่ะ




4. เดินทางไปยังไงได้บ้าง?

สนามบินหลักคือ สนามบินเมืองทบิลิซี่เมืองหลวงค่ะ ยังไม่มีบินตรงจากไทย ต้องต่อเครื่อง ซึ่งก็สามารถเดินทางกับสายการบินที่มีบินทั้งไทยและจอร์เจียได้ เช่น Air Astana, Emirates+FlyDubai, Gulf Air, Qatar Airways จริงๆ มี Turkish Airlines ด้วย แพลนไปเที่ยวทั้งสองที่ก็ได้นะ เพราะตุรกีก็ไม่ต้องขอวีซ่า หรือจะไปมอสโคว์ก็ได้ อีกสายการบินที่อ้อมหน่อย แต่บางทีเห็นตั๋วโปรราคาดีหลายครั้ง คือ UIA

จากประสบการณ์ คิดว่าขึ้นสายการบินไหนก็ได้ที่คิดว่า เวลาต่อเครื่องและราคา เหมาะสมที่สุด

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าสมมติว่าคิดจะไปเที่ยวแถบคอเคซัสหลายประเทศ จะลองหาตั๋วไป Yerevan เมืองหลวงประเทศอาร์เมเนีย หรือ Baku เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจานดูก็ได้ แล้วจัดเป็นทริปสองหรือสามประเทศไป (อาร์เมเนีย และ อาเซอร์ไบจาน มีข้อพิพาทแย่งดินแดนกัน ทำให้ หากเคยเข้าประเทศใดประเทศหนึ่งมาก่อน ตม.อีกประเทศจะค่อนข้างงอแง เช็คโน่นเช็คนี่ แต่เท่าที่อ่านมา ทุกคนก็ผ่านได้ แค่โดนตรวจเข้มหน่อย)

สำหรับตั๋วเครื่องบินเคสเราเนี่ย ค่อนข้างวู่วาม จองล่วงหน้าไม่ถึง 2 อาทิตย์ ในช่วงที่เราจะเดินทาง มีตั๋วเริ่มต้นตั้งแต่ราคาหมื่นหก แต่ในวันที่เราลาได้ มีแค่ออปชั่นเดียว คือ Gulf Air ซึ่งถ้าไป-กลับ Tbilisi จะอยู่ที่ราคา สองหมื่นเอ็ด แต่ถ้าไปลง Tbilisi แล้วกลับจาก Baku จะอยู่ที่หมื่นเก้า เราเลยเลือกกลับจาก Baku เพราะเล็งๆ ว่าอยากไปเที่ยวอาเซอร์ไบจานในทริปนี้อยู่แล้ว

สำหรับใครที่หาตั๋วเครื่องบินราคาถูกอยู่ก็ไปเทียบราคาได้ที่ Skyscanner.com นะคะ คลิ๊กที่นี่ได้เลย!!!

รีวิวสายการบินที่มีเที่ยวบินไป Tbilisi >> คลิ๊กที่รูปได้เลยค่ะ


5. Visa

คนไทยอยู่ได้ 365 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า อยู่ได้นานที่สุดในโลกนี้แล้วค่ะ ลงเครื่องปุ๊ปผ่านตม.ได้เลย ไม่ได้มีให้กรอกเอกสารอะไร ตม.ไม่พูดไม่จา เหลือบมองหน้าหนึ่งรอบ สแตมป์ให้เข้าประเทศแล้ว

ส่วนตอนผ่านตม.บนรถไฟข้ามไปอาเซอร์ไบจาน สามารถไปอ่านได้ที่ [รีวิว] รถไฟนอนข้ามประเทศ จอร์เจีย – อาเซอร์ไบจาน


6. เที่ยวจอร์เจียเดือนไหนดี ?

เราลั่นไว้ในโพสท์เฟสบุ๊คว่า เชอร์รี่กิโลละ 30 บาท และมีเพื่อนๆ อยากจะตามมาทานเชอร์รี่ด้วยแต่อยากมาตอนหิมะตกด้วย แต่เดี๋ยวก่อน เชอร์รี่เป็นผลไม้ฤดูร้อนค่ะ ออกขายประมาณเดือนพฤษภาถึงสิงหา ซึ่งหิมะไม่ตกนะคะ มีแต่จะละลาย ช่วงฤดูหนาว หิมะตก นี่คนละฤดูกับเชอร์รี่เลยค่ะ แต่จริงๆ ช่วงเดือน พฤษภา-มิถุนา เป็นช่วงที่เราชอบเที่ยวประเทศซีกโลกเหนือ (Northern Hemisphere) ค่ะ เพราะ เป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ เข้าฤดูร้อน อากาศจะไม่หนาวแบบโหด แต่ไม่ร้อนเกินไป ที่สำคัญช่วงกลางวันยาวค่ะ พระอาทิตย์ขึ้นตีห้า ตกสองทุ่ม ทำให้มีแสงถ่ายรูปสวยๆ ได้ยาว

ฤดูกาลของที่นี่ เหมือนยุโรปเมืองอื่นๆ ปกติเลยค่ะ

ฤดูใบไม้ผลิ มีนา-พฤษภา : ฤดูที่คนไทยชอบมากที่สุด ด้วยอากาศที่เย็นสบายตอนกลางวัน หนาวตอนกลางคืน พระอาทิตย์ขึ้นและตกเวลาปกติ ตามภูเขาที่สูงยังมีหิมะขาวโพลน มีโอกาสฝนตกค่อนข้างเยอะ และ ยังไม่ใช่ฤดูกาลที่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกมาเที่ยวค่ะ ฤดูนี้ยังเล่นสกีได้ถึงช่วงเมษาค่ะ

ฤดูร้อน มิถุนา-สิงหา : แถวนั้นนี่เวลาร้อน มันร้อนมากเลยนะคะ แต่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกชอบเที่ยวหน้าร้อน จะได้มีผิวสีแทนกลับไปอวดเพื่อนๆ ค่ะ ดังนั้น ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวเยอะที่สุดและเป็น High Season ของที่นั่นค่ะ คนไทยอาจจะไม่ได้ชอบไปช่วงนี้ แต่ข้อดีของช่วงนี้ก็คือ มีแสงสว่างนานมาก ตีสี่ถึงสามทุ่ม เที่ยวได้กระจาย มีแสงถ่ายรูปทั้งวัน ช่วงแสงสวยยาวกว่าปกติ และไม่ค่อยเจอฝน ไม่เจอปัญหาหิมะถล่ม ต้องปิดถนนชั่วคราว อะไรเลย

ฤดูใบไม้ร่วง กันยา-พฤศจิกา : จริงๆ ค่อนข้างคล้ายกับฤดูใบไม้ผลิเลยค่ะ แค่เป็นฤดูใบไม้ร่วง โทนจะส้มๆ หน่อย ใบไม้เริ่มแห้งเพื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ช่วงนี้อากาศจากเย็นๆ ตอนกลางวัน แล้วหนาวเลขตัวเดียวตอนกลางคืน เหมือนฤดูใบไม้ผลิ แล้วก็อาจจะไม่ได้เห็นหิมะ เพราะละลายไปหมดแล้วในช่วงฤดูร้อนและยังไม่ได้ตกมาใหม่ (แต่ยอดเขาสูงๆ เป็นหิมะถาวรทั้งปีนะคะ มีให้เห็นตลอด)

ฤดูหนาว ธันวา – กุมภา : จอร์เจียเป็นอีกจุดหมายปลายทางของคนเล่นสกีค่ะ ทำให้สกีรีสอร์ทนั้นเต็มไปหมด อากาศหนาวจัด ข้อเสียของฤดูหนาวคือ ถ้าหิมะตกหนัก ก็จะใช้ชีวิตลำบาก เช่น หิมะตกกลางคืน ตื่นเช้ามาต้องรอรถกวาดหิมะ ถึงจะขับรถได้ เผลอๆ ถนนปิดบ้าง และกลางวันสั้นมาก เช้าเก้าโมง ห้าโมงมืดแล้ว แต่ถ้าใครอยากเจอหิมะตก มาเล่นสกี หิมะขาวโพลน ก็มาช่วงนี้ค่ะ







7. ค่าเงินและค่าครองชีพ

จอร์เจียใช้เงินสกุล ลารี่ ค่ะ (GEL = Georgian Lari)

ที่นี่รับแลกเงินสกุลหลักๆ ได้แก่ USD, EUR, GBP, RUP ค่ะ ลองดูละกันว่า เงินไหนอ่อนสุด

ส่วนตอนเราไป เราแลกยูโรไปทั้งหมดค่ะ โดยอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่เราไป ซื้อ 1 ยูโรอยู่ที่ 35.35 บาท แล้วเอายูโรไปซื้อ เงินลารี่ ได้มา 1 ยูโร = 3.08 ลารี่ ค่ะ ทำให้คิดเงินจอร์เจีย เป็นเงินไทย มีค่าอยู่ที่ 1 ลารี่ = 11.47 บาทค่ะ

ร้านแลกเงินในเมืองถูกกว่าที่สนามบิน นิดหน่อย ถ้าไม่ได้แลกเยอะ แลกที่ไหนก็ได้ เดินเทียบเรทนิดนึงค่ะ แถว Old Tbilisi มีร้านแลกเงินอยู่เต็มไปหมดเลย (ส่วนตัวเราแลกเป็นเงิน ลารี่ ไป 140 ยูโรค่ะ ตกไม่ถึงห้าพันบาท)

ส่วนที่สนามบิน ออกมาปุ๊ปจะเจอร้านแลกเงินตั้งเรียงกัน 5-6 อัน เทียบเรทตามป้ายเลยค่ะ แล้วเช็คกับเค้าดีๆ ว่า จะแลก xx ยูโรได้กี่ลารี่ เป็นไปตามป้ายมั้ย เพราะบางที่มันเก็บคอมมิชชั่น ส่วนเราแลกบู้ทชื่อ intelexpress ค่ะ

ส่วนค่าครองชีพ คร่าวๆ (1 GEL = 11.50 บาท)
– บัสและรถไฟใต้ดินในทบิลิซี่ สุดสาย 0.5 GEL
– น้ำเปล่าขวดเล็ก 0.5 GEL / โค้ก 0.7 GEL
– ค่าน้ำมันรถ ลิตรละ 2.49 GEL
– อาหารในร้านสวยๆ Kachapuri 6-8 GEL กินเยอะๆ หมดประมาณมื้อละ สองสามร้อยบาท
– แมคนักเก็ตชุด 9 ชิ้น น้ำใหญ่เฟรนฟรายใหญ่ 11 GEL
– เครื่องดื่มในคาเฟ่สวยๆ พวกกาแฟ น้ำผลไม้ 3-7 GEL , คราฟท์เบียร์ในบาร์ 7-8 GEL
– เบียร์ในซุปเปอร์ 1.5 – 3 GEL ส่วนใหญ่เป็นเบียร์จากประเทศเชค แต่มีเบียร์ท้องถิ่นด้วย ส่วนไวน์ก็ถูก เริ่มต้นที่ 10 GEL


8. ภาษา

ใครห่วงว่าตัวเองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้… ไม่ต้องกลัว เราพูดได้ เรายังใช้ภาษามือรัวๆ เลยค่ะ

ภาษาทางการคือ ภาษาจอร์เจียน (กลุ่มภาษา Kartvelian)  ซึ่งมีตัวอักษรเป็นของตัวเอง เป็นอะไรที่ทำให้คุณเข้าใจความรู้สึกของฝรั่งมาเมืองไทย เพราะมันอ่านไม่ออก เดาไม่ได้ ถ้าจะจำก็เริ่มต้นจำใหม่จากศูนย์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ป้ายส่วนใหญ่จะมีภาษาอังกฤษกำกับอยู่นะคะ ไม่ต้องเป็นห่วง

และเนื่องจากเคยเป็นสหภาพโซเวียตมาก่อน ทำให้คนแถวนี้ พูดภาษารัสเซียได้พอๆ กับภาษาตัวเอง ในแหล่งท่องเที่ยว คนก็มักจะพูดกับเราเป็นภาษารัสเซียก่อน มีคนพูดภาษาอังกฤษได้ แต่น้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ ดังนั้น เราว่า เป็นประเทศที่ ถึงคุณจะไม่เก่งภาษาอังกฤษก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะเราไป ก็ยังใช้ภาษามือไปค่อนทริป

ตอนเห็นป้ายนี้ที่สถานีรถไฟครั้งแรกก็เอ๋อแดกเหมือนกันค่ะ อ่านออกแต่เลข

9. โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต

ค่ายมือถือไทยทั้งสองค่าย ยังไม่มีโรมมิ่งที่ จอร์เจียนะคะ

เราซื้อซิมของ Beeline พร้อมเน็ต 4GB มาในราคา 9 ลารี่ (ประมาณร้อยบาท) ถ้าใครใช้เน็ตเยอะ จะซื้อ 10 GB 15 ลารี่ ก็ได้ค่ะ ซื้อที่สนามบิน พร้อมใช้งานได้เลยค่ะ สัญญาณอินเตอร์เน็ตเป็นสัญญาณ 4G/LTE ใช้ได้ค่อนข้างครอบคลุม แต่จะมีตอนขับออกต่างจังหวัดบางช่วง ที่สัญญาณอ่อนค่ะ

Wifi มีอยู่ทั่วไปตามโรงแรมและร้านอาหารค่ะ


10. อาหารจอร์เจียเป็นยังไง?

นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เราจะบอกว่า ที่นี่มันมีความเป็นยุโรปมากกว่าเอเชียเลยนะ อย่างเวลาไปคาซัคสถานหรือตะวันออกกลาง เรายังยืนยันว่าเอเชีย แต่ประเทศที่กินขนมปังกับชีสเป็นหลักเนี่ย มันฟังดูยุโรปมากๆ

อาหารดังของที่นี่ เริ่มต้นด้วย Khachapuri พิซซ่าชีสเยิ้ม มีไข่อยู่ตรงกลาง แต่แป้งจะไม่ใช่แป้งพิซซ่าซะทีเดียว เป็นแป้งแบบขนมปังจอร์เจียนเอง เราติดมาก เพราะชอบกินอะไรแบบนี้

ตามด้วย Khinkali ที่เรากินทุกวัน เกี๊ยวจอร์เจียนค่า อันนี้หลักการเดียวกับเสี่ยวหลงเปา/โมโม่ของเนปาลเป๊ะ รสชาติก็คล้ายๆ เป็นเกี๊ยวอันใหญ่ๆ นึ่งมา พร้อมไส้หมูหรือเนื้อสับ น้ำซุปเยิ้มๆ กลมกล่อม แต่พีคตรงขายตัวละ 5 บาท ในร้านอาหารดีๆ (จริงๆ นอกจาก จีน เมนูนี้ยังเจอที่ มองโกล เนปาล กลุ่มประเทศลงท้ายด้วยสถาน อีกด้วย)

ถ้าใครกินยากก็กินเนื้อเสียบไม้ย่างไป มีทั้งหมู เนื้อ ไก่ ชื่อว่า Mtsvadi แต่อย่าสั่งเยอะนะคะ คือมันใหญ่มาก เราเคยสั่งไก่ ความรู้สึกเหมือนกินอกไก่เซเว่น 3-4 ชิ้นอ่ะ กินกับมันบด มันผัด หรือจะเป็นพวก มะเขือม่วงกระเทียม เค้าทำอร่อย

อันที่ส่วนตัวกินยากหน่อยเพราะไม่ใช่สายผัก คือ Pakhli เป็นผักสับกับกระเทียมหัวหอม หน้าตาคล้ายๆ แอ๊บของภาคเหนือ เราก็จะกินได้เฉพาะชนิดผักที่ชอบ แต่น้องที่ไปด้วยกินผัก ก็คือแฮปปี้มาก

นอกจากนี้ ก็พวกหม้อดิน เช่น เห็ดอบชีส มะเขือม่วงอบหม้อดิน ซี่โครงหมูทอดกับเฟรนฟรายในหม้อดิน (เมนูนี้เราชอบมาก เหมือนกินซี่โครงหมูทอดเกลือ แต่ชิ้นใหญ่ดี)


หวังว่าจะทำให้ทุกคนรู้จักและพร้อมกับการไปเที่ยวจอร์เจียมากขึ้นนะคะ ถ้าพร้อมแล้ว เราไปวางแผนการเดินทางกันเลยค่ะ!

ไปอ่าน เที่ยวจอร์เจียตอนที่ 2 แผนการเดินทางและค่าใช้จ่าย ได้เลย คลิ๊ก


บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรีวิว ทริปจอร์เจีย-อาเซอร์ไบจาน ผ่านบาห์เรน ซึ่งสามารถติดตามอ่านได้ดังนี้

[เที่ยวจอร์เจียด้วยตัวเอง Ep.1] รู้จัก จอร์เจีย และตอบคำถามที่ทุกคนสงสัย
[เที่ยวจอร์เจียด้วยตัวเอง Ep.2] แผนการเดินทาง และ ค่าใช้จ่ายในการเที่ยวจอร์เจีย
[เที่ยวจอร์เจียด้วยตัวเอง Ep. 3] วันแรกใน Tbilisi ฝั่งใหม่ ย่านฮิปๆ ที่ต้องไปเช็คอิน
[เที่ยวจอร์เจียด้วยตัวเอง Ep. 4] ถนนประวัติศาสตร์มุ่งหน้าสู่เทือกเขาคอเคซัส กับที่พักวิวหลักล้าน
[เที่ยวจอร์เจียด้วยตัวเอง Ep.5] ‘Gori’ บ้านเกิดสตาลิน เมืองโบราณในหิน และการทำไวน์จอร์เจีย
[เที่ยวจอร์เจียด้วยตัวเอง Ep. 6] ‘Tbilisi’ เมืองหลวงทรงสเน่ห์ เพชรเม็ดงามแห่งดินแดนคอเคซัส

[เที่ยว อาเซอร์ไบจาน ด้วยตัวเอง] ‘Baku’ เมืองหลวงแห่งความหลากหลายที่ต้องมาให้ได้ซักครั้ง

[รีวิว] รถไฟข้ามประเทศ จอร์เจีย – อาเซอร์ไบจาน [Tbilisi-Baku Train]

[รีวิว] Gulf Air สายการบินแห่งชาติบาห์เรน กับเส้นทางบิน กรุงเทพ-บาห์เรน-ทบิลิซี่-บากู
[Bahrain Transit] เที่ยวบาห์เรน แบบสั้นๆ ระหว่างแวะเปลี่ยนเครื่องกับสายการบิน Gulf Air

วิธีการขอ วีซ่า อาเซอร์ไบจาน ออนไลน์ สะดวก ง่ายและประหยัด [Azerbaijan E-Visa]

สำหรับใครที่หาตั๋วเครื่องบินราคาถูกอยู่ก็ไปเทียบราคาได้ที่ Skyscanner.com นะคะ คลิ๊กที่นี่ได้เลย!!!

หากชอบรีวิว ช่วยกดไลค์เพจเป็นกำลังใจให้หน่อยนะคะ หรือไปตามไอจี @eatchillwander อัพเดทกันแบบเรียลไทม์ขอบคุณมากๆ ค่า



error: