[เที่ยวคิวชู EP.3] ไร่ชาเขียวเมือง Yame เล่นกับคาปิบาร่า ชมวัดพระนอน Nanzoin
ความเดิมตอนที่แล้ว เราได้เดินทางไปทั่ว จังหวัดซากะ ในเกาะคิวชูเลยค่ะ เราขับรถออกมาจาก Arita ไปแวะศาลเจ้าใหญ่ของคิวชูที่ชื่อ Yutoku Inari Shrine จากนั้น ก็มาพักผ่อนที่ เรียวกังในเมืองแห่งออนเซนผิวสวย Ureshino ด้วยความที่เมืองแถวนี้ ยังคงมีความเป็นธรรมชาติสูงมาก ประกอบกับเมืองออนเซนนี้ ยังมีของดีหลายอย่าง เลยอยากให้เผื่อเวลาอยู่เรียวกังกันเยอะๆ นะคะ เพราะมันได้พักผ่อนจริงๆ
ย้อนอ่านความเดิมตอนที่แล้ว คลิ๊กที่นี่
ส่วนตอนนี้ ก็พาไปหลากหลายมากเหมือนกัน เรียกว่าไปตามใจตัวเองสุดๆ มีตั้งแต่ไปไร่ชาเขียวมัทชะ ซึ่งมาจากความสงสัยว่า ทำไมชาเขียวมัทชะเกรดดีๆ รวมถึงชาเกียวกุโระที่กำลังฮิตขึ้นมา มันถึงแพงงงงงงเป็นหลักหมื่นหลักแสน ได้ขนาดนั้น จากนั้น ก็ไปแวะทานข้าวหน้าปลาไหลมิชลินสตาร์ แล้วแวะไปเล่นกับคาปิบาร่า แรนดอมมาก 5555 จากนั้นก็แวะวัดพระนอน Nanzoin และ กลับเข้ามาเที่ยว ฟูกุโอกะ ค่ะ
Breakfast at Warakuen Ryokan
ตื่นมาทานอาหารเช้าที่ทางเรียวกังเตรียมไว้ให้กันก่อน ยังคงคอนเซปท์ ของดีจังหวัดซากะ
คราวนี้มาเป็นเต้าหู้ในน้ำแร่ออนเซนแบบหม้อไฟเลย แล้วก็มี Ochazuke ชาเขียว หอมเข้ากัน เป็นมื้อเช้าที่ทั้งความสมดุลและสมบูรณ์ เริ่มวันได้ดีมากๆ
Yame Tea Plantation (Hoshino Seichaen)
เราขับรถออกจาก Ureshino เดินทางประมาณราวๆ 2 ชั่วโมง ก็จะถึงไร่ชาในหมู่บ้าน Hoshino ซึ่งอยู่ในเมือง Yame ทางชายขอบตอนใต้ของฟูกุโอกะ ที่ใช้เวลานาน เนื่องจากเป็นถนนที่ขับข้ามเขา นอกเมือง ทำให้ถนนค่อนข้างเล็กแบบที่เห็นในรูป แต่วิวและบรรยากาศสองข้างทางก็ทำให้เราสดชื่นมาก
หากพูดถึงแหล่งปลูกชาในญี่ปุ่น เรามักจะนึกถึงแหล่งปลูกขนาดใหญ่ อย่าง Uji ในจังหวัดเกียวโต หรือ แหล่งต่างๆจ ในชิสุโอกะ เป็นหลัก แต่หากทานพวกชาเขียวมัทชะ และ ชาเกียวกุโระ จริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเริ่มได้ยินชื่อเมือง Yame บ้าง
นอกจากเรื่องความสงสัยในราคาของชา อีกสิ่งที่คนทานชาทราบกันเป็นอย่างดี แต่เราก็ไม่เคยเห็นตอนทำจริงๆ ก็คือเรื่องสีของผงมัชชะ
ก่อนอื่น ขออธิบายคร่าวๆ ก่อน มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า ชาเขียวที่เราทานกันในร้านอาหารญี่ปุ่น ที่เป็นชาเขียวใสๆ คือ “มัทฉะ (Matcha)” แต่จริงๆ ไม่ใช่นะคะ อันนั้นคือ เซนฉะ (Sencha) เป็นชาใบ ส่วนมัชฉะจะเป็นผงที่บดมาจากใบชาที่เรียกว่า Tencha เวลาชงจะสามารถชงแบบน้ำเยอะๆ หรือ จะชงแบบข้นจนเป็นซอสเลยก็ได้ค่ะ มัทฉะที่ว่ากันว่าดี คือมัทฉะที่มีรสชาติกลมกล่อม มีความอุมาหมินิดๆ
เรามากันที่ “Hoshino Seichaen” ซึ่งเป็นร้านขายชาและมีโรงงานเป็นของตัวเอง โดยเราเมล์มาขอเยี่ยมชมโรงงาน ซึ่งทางนี้เค้าก็เตรียมรับเราเป็นอย่างดี และแม้จะไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษเลย เราได้อีเมล์ไปปรึกษา สมาคม Fukuoka SGG Club (Systematized Goodwill Guide) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทั่วญี่ปุ่น ที่จะคอนเนคเรากับชาวญี่ปุ่นที่ว่างและอยากมาช่วยเป็นไกด์เพื่อฝึกภาษาอังกฤษ หรือ เป็นงานอดิเรก
สำหรับ SGG Club เราเคยใช้มาหลายครั้งแล้ว พบว่าส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น ที่พูดภาษาอังกฤษคล่องจนตกใจ บ้างก็เรียนจบเอกภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัย บางคนเคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ แต่คุณลุงคุณป้าเหล่านี้ ใจดีมาก และ ไม่รับค่าตอบแทน ซึ่งเราก็มักจะเชิญเค้าไปเลี้ยงข้าวหลังทัวร์เสร็จเสมอ
ที่นี่เป็นโรงงานใหญ่ ทำให้เราได้เห็นทั้งวิธีการคัดเกรดของชา ตอนสตรีมชา ตอนแพ๊คและรอส่งก็เป็นห้องเย็นขนาดใหญ่
เสร็จจากตอนที่โรงงานเตรียมชาในขั้นตอนแรกที่เรียกว่า Tencha แล้ว ก็จะแยกไปเป็นส่วนที่ทำ มัทฉะ อีกอาคารนึง ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งความแตกต่างระหว่างมัทฉะเกรดต่างๆ
ผงมัชฉะจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง?
ผงมัทฉะที่เราเห็นทั่วไปตามซุปเปอร์มาร์เก็ต จะมีราคาตั้งแต่ 100 กรัม 80-150 บาท ในขณะที่ชาเขียวมัทฉะระดับพรีเมี่ยมจะอยู่ที่ 100 กรัม ราคาประมาณ 8,000 บาทขึ้นไป
ซึ่งความแตกต่างก็เริ่มตั้งแต่ วิธีการปลูกและดูแลชา คุณภาพของต้นชาและแหล่งดิน ความสูง แหล่งน้ำ การเก็บ ใช้มือเก็บหรือเครื่องเก็บ ไปจนถึง ฝีมือและความดังของคนทำ
และที่สำคัญก็คือ บดอย่างไร?
มัทฉะระดับพรีเมี่ยมนั้น มักจะบดด้วยโม่หินแบบในรูป ซึ่งใช้เวลานานมาก กว่าจะออกมาทีละนิด แต่ให้มัทฉะที่เนียน กลิ่นหอม สีสวยสด เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการบดนาน จึงทำให้มูลค่าสูงขึ้น กว่าโรงงานที่บดด้วยวิธีอื่น
เราไม่แนะใจว่ายังมีการบดโม่หินด้วยมืออีกมั้ย แต่ขอให้เลื่อนลงไปตอนไป พิพิธภัณฑ์ชาที่เค้าให้ลองบดเอง เราบอกเลยว่า… อย่าบดเองเลยค่ะ มันเหนื่อยกว่าที่เห็นมาก
และด้านล่างตรงโม่หินนี้ คือสีของผงมัทฉะที่สดใหม่ ดังนั้นหากคุณไปซื้อมัทฉะแล้วสีมันเริ่มเป็นเขียวเข้ม เขียวตอง เหลือง หรือ น้ำตาล นั่นแปลว่าผงมัทฉะไม่มีความสดอีกต่อไป ให้นึกถึงเวลาซื้อผัก ผักควรจะใบเขียวไม่ใช่เหลือง
นอกจาก มัทฉะที่ดังแล้ว ยังมี เกียวคุโระ (Gyokuro) ซึ่งว่ากันว่าเป็นชาที่เลอค่าที่สุดของญี่ปุ่น โดยก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 2 อาทิตย์จะคลุมด้วยฟางหรือสแลนกันแดด ให้เหลือแดดประมาณ 90% เพื่อเป็นการลดการสังเคราะห์แสง ให้คอโรฟิลล์สูงขึ้นและแทนนินหายไป สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 1 ครั้ง โดยการเก็บยอดที่เป็น first flush ในฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น หลังเก็บต้องนำเข้าโปรเซสการนึ่ง เพื่อหยุดการ Oxidation ให้คงไว้ซึ่งคาแรคเตอร์เฉพาะของเกียวคุโระทันที ราคาตัวที่ได้รางวัลที่ร้านนี้ ก็อยู่ประมาณ 100 กรัม 10,000 บาทค่ะ (เค้าขาย 20 กรัม 6000 Yen)
(ส่วนตัวเราไม่ชอบชาเกียวคุโระเลยค่ะ เพราะมันจะมีกลิ่นทะเลนิดๆ)
อ้อ ช็อกโกแลตสดมัทฉะที่นี่อร่อยมากกกกกกกก
Cha no Bunkakan
หากใครไม่อินกับการกินชาและโรงงานชาเลยยยย เรายังคงอยากแนะนำให้มาเที่ยวที่นี่อยู่ดี เพราะที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ชาที่อยู่บนเขา มีทัศนียภาพที่สวยงาม สงบเงียบ มีสวนญี่ปุ่นเล็กๆ อยู่ด้านหน้า อากาศดี ประทับใจมาก
ภายใน Cha no Bunkakan นั้น มีทั้งร้านอาหาร เวิร์กช้อปชงชา นิทรรศการและพิพิธภัณฑ์เรื่องชาญี่ปุ่น
ส่วนเราเลือกเวิร์กช้อป “บดผงมัทฉะ” ด้วยความสงสัยต่อเนื่องหลังจากที่เห็นที่โรงงาน เลยอยากลองบดเอง
มาแล้วค่ะ เครื่องโม่เล็กๆ ดูน่ารัก
ใส่ใบชาลงไปก่อน ใบชาก็สีเข้มนะ
พอหมุนไปเรื่อย ๆๆๆๆๆๆๆ
หมุนไปเรื่อยๆๆๆ ไม่ออกมาซักที
หมุนจนปวดแขน ผงก็ค่อยๆ โรยออกมาเหมือนแป้ง ทำอยู่นานกว่าจะเยอะพอที่จะตักขึ้นมาค่ะ
แต่ที่รู้สึกชอบ คือสีเขียวสดเนี่ยแหล่ะ มันเขียวสดแบบนี้จริงๆ อย่างกะใส่สี คราวหน้าซื้อมัทฉะจะไม่โดนหลอกแล้ว!
อันนี้เราต้องร่อนให้มันไม่เป็นก้อนค่ะ แล้วเค้าก็ใส่กระปุกเล็กๆ มาให้ แต่จะบอกว่า เราทำออกมาได้น้อยมาก มันเบามาก ไม่รู้กี่กรัม
บรรยากาศที่ Cha No Bunkakan
ข้าวหน้าปลาไหล มิชลินสตาร์ Fujii [ふぢ井]
ร้านนี้อยู่ในเมืองที่ชื่อว่า Kurume ค่ะเป็นเมืองทางผ่านขากลับมาจาก Yame ไปยัง ฟูกุโอกะ ซึ่งร้านนี้พีคตรงที่เสิร์ชชื่อเป็นภาษาอังกฤษ หาไม่เจอ ต้องเสิร์ชเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น
สำหรับ Unaju หรือ ข้าวหน้าปลาไหลร้านนี้ ก็สมราคามิชลินหนึ่งดาว ปลาไหลฟู ซอสกลมกล่อม เป็นร้านเล็กๆ ที่ว่ากันว่าปกติต้องต่อคิว แต่เรามา ถึงเกือบบ่ายสอง เลยได้เข้าไปเป็นคนสุดท้ายค่ะ
Torius Fureai Zoo
ก่อนกลับเข้า ฟูกุโอกะ เราอยากมาแวะวัดพระนอน Nanzoin เพราะมาฟูกุโอกะเป็นครั้งที่สองแล้ว แต่ยังไม่เคยไป
ไม่ไกลมาก มีคอมมิวนิตี้มอลล์ขนาดใหญ่ ที่เราตั้งใจแวะมาส่องของมือสองที่ Hard Off และที่สำคัญ ตั้งใจมาเล่นกับเจ้าคาปิบาร่า!!
ช่วงหลังๆ มาเราชอบมีมรูปคาปิบาร่ามากเลยค่ะ รู้สึกว่าน้องน่ารัก หน้ามึน ดูฟีลเดียวกับอุ๋งอ่ะ ชอบ
ที่นี่เป็นสวนสัตว์เปิดเล็กๆ เล็กแบบสนามเด็กเล่นอ่ะค่ะ แต่ก็มีพื้นที่พอให้สัตว์หลายชนิดเดินไปเดินมา ป่วนไปหมด สนุกนะ มีทั้ง เมียร์แคท ที่ให้อาหารได้ ตัวตุ่น มีพวกฟลามิงโก้ เต่า ครอบครัวชาวญี่ปุ่นก็พาลูกมาเล่นกัน คึกครื้นอยู่ แต่ไม่แออัดค่ะ
จริงๆ แล้ว ที่นี่ใหญ่มากเลยนะคะ สวนสัตว์นี่เป็นแค่มุมเล็กๆ ส่วนที่เหลือคือใหญ่แบบ เมกาบางนา 3 อัน ไรงี้ มีไดโซะ แยก มี ABC Mart มีเวิ้งอาคาร Hard Off ร้านขายของมือสองเจ้าใหญ่ที่มีทั้ง Book Off, Off House ของแบรนด์เนมมือสอง อะไรมีหมดเลย ส่วนอีกฝั่งก็จะเป็น เกมส์เซ็นเตอร์ มี Costco ที่เป็นห้างขายส่ง
วัดนันโซอิน (Nanzoin Temple)
สำหรับเราที่ไปญี่ปุ่นปีละ 1-3 ครั้งมาตลอดหลายปี ค่อนข้างจะเบื่อวัดญี่ปุ่นพอสมควร เพราะพอดูไปเยอะๆ มันจะเริ่มคล้ายๆ กัน เหมือนกับเวลาดูวัดไทยหรือโบถส์ฝรั่ง แต่สำหรับวัด Nanzoin แล้ว แม้จะเคยไปวัดญี่ปุ่นมามากขนาดไหน ก็ยังแนะนำให้มาชมอยู่ดี
นั่นก็เป็นเพราะว่า วัดแห่งนี้ สร้างอยู่บนเนินเขาอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ มีหลายบริเวณที่แตกต่างกัน เพียงได้เดินชมบริเวณต่างๆ ในพื้นที่เขียวชะอุ่ม ร่มรื่นย์ ได้ยินเสียงน้ำไหล ก็รู้สึกจิตใจสงบแล้ว ภายในวัดยังมีอุโมงค์มงคลที่เราต้องเดินผ่านจากบริเวณตัววัด ไปยังทางขึ้นไปชมพระนอน
ใกล้ทางขึ้นไปชมพระนอน ยังมีเสาโทริอิเรียงขึ้นบันไดให้ไปขอพร ซึ่งถ้าไม่มองว่านี่เป็นสถานที่ทางศาสนา ก็นับว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางเทรกที่น่าเดินเล่น
ส่วนไฮไลท์ของวัดแห่งนี้ ก็คือ พระพุทธรูป พระนอน ความยาวถึง 41 เมตร หนักถึง 300 ตันเลยทีเดียว
จากนั้นเราก็ขับรถเข้ามาคืนในฟูกุโอกะ แล้วก็ไปเดินเล่นรอบเมืองเลย แต่จะไปที่ไหนบ้าง ติดตามตอนถัดไปนะคะ
ตอนถัดไปจะเป็นวันสุดท้ายในฟูกุโอกะ พาไปทานเนื้อย่าง และ เดินเล่นแถว Tenjin ค่ะ
หากชอบรีวิว ช่วยกดไลค์เพจเป็นกำลังใจให้หน่อยนะคะ ขอบคุณมากๆ ค่า