[รีวิว] เรียน Free Diving (ฟรีไดฟ์วิ่ง) ในกรุงเทพฯ เวลาน้อยก็เรียนได้

เทรนด์งานอดิเรกและกีฬาทางน้ำที่มาแรงสุดๆ ในช่วงนี้ คงต้องยกให้ การดำน้ำแบบ Free Diving หรือ Free Dive (ฟรีไดฟ์) ซึ่งเป็นการดำน้ำแบบอิสระ ไม่แบกถังอากาศลงไปด้วย หลายคนอาจจะเรียนเพื่อรูปใต้น้ำสวยๆ แต่นัทตัดสินใจเรียนเพื่อเป็นทักษะหนึ่งของชีวิต และวันนี้ เลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์การเรียน Free Diving ที่กรุงเทพฯ ให้ทุกคนฟังค่ะ

ฟรีไดฟ์คืออะไร ทำไมถึงเรียน

Free Diving หรือ Free Dive (ฟรีไดฟ์) นั้นคือการดำน้ำแบบอิสระด้วยตัวเปล่าค่ะ มีอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดคือร่างกายของเราเองค่ะ เป็นการดำลงไปด้วยการกลั้นลมหายใจ หลายคนหลงรักกีฬาชนิดนี้ เพราะได้ทั้งสมาธิและความรู้สึกที่อิสระเป็นส่วนหนึ่งไปกับธรรมชาติค่ะ

สำหรับคนชอบเดินทางอย่างนัท เหตุผลแรกที่ตั้งใจมาเรียน คืออยากได้เป็นทักษะติดตัวค่ะ เพราะ การเดินทางทางเรือและทางน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งในรูปแบบการเดินทางที่ต้องไปบ่อยๆ เลยรู้สึกว่า มาเรียนไว้ก็ไม่เสียหาย เผื่อเกิดอะไรขึ้นมาก็มีสกิลอะไรติดตัวไว้บ้าง

อีกเหตุผลสำคัญคือเอาไว้ดำลงไปดูสัตว์ทะเลใต้น้ำเนี่ยแหล่ะค่ะ คือการที่เรามีถังอากาศในการดำน้ำแบบสกูบ้า บางทีเราก็ไม่สามารถขึ้นลงได้ตามใจชอบนะคะ แต่ถ้าฟรีไดฟ์เนี่ย เจอตัวอะไร ก็พุ่งไปดูได้ด้วยฟิน (ตีกบ) ของเราเอง ถ้าถึงจุดนี้จะเข้าใจเลยว่า ทำไมมันเรียกว่า ‘Free’ เพราะมันอิสระจริงๆ

นอกจากนี้ ยังทำให้เรารู้สึกมั่นใจเวลาเล่นกิจกรรมทางน้ำมากขึ้นด้วยค่ะ ส่วนเรื่องรูปสวยๆ สำหรับนัทเป็นผลพลอยได้ค่า

เรียน ฟรีไดฟ์ ใช้เวลาเท่าไหร่

หลายคนอาจจะคิดว่า ฟรีไดฟ์วิ่ง ต้องใช้เวลาเยอะ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ถูกและผิดค่ะ

เบื้องต้น ตัวนัทไม่ค่อยมีเวลา เลยเริ่มเรียน Basic Freediving กับทาง Zanook Dive ซึ่งเรียนที่กรุงเทพฯ และใช้เวลาน้อยมากๆ !! เหมาะกับคนไม่มีเวลามาก ใช้เวลาแค่วันเดียวเท่านั้นค่ะ แบ่งเป็น

– เรียนทฤษฎีผ่าน Zoom ประมาณ 3.5 ชม.
– เรียนปฏิบัติที่สระ ประมาณครึ่งวันค่ะ

ถ้าทำทุกสกิลผ่าน ก็จะได้บัตร Basic Freediver ซึ่งนัทได้มาเรียบร้อย

แต่อย่าลืมค่ะว่า Freediving คือ “กีฬาชนิดหนึ่ง” เรียกว่ากีฬา ก็ต้องการการฝึกฝน เรียนครั้งเดียวมันก็รู้และเข้าใจหลักการ แต่จะทำให้ดีมันก็ต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆ ค่ะ

สำหรับนัท คิดว่าจะฝึกต่อไป แต่ถึงจะมาเรียนแค่คอร์สเดียว มันก็ทำให้เราเข้าใจหลายอย่าง โดยเฉพาะหลักการด้านความปลอดภัย ที่นำมาซึ่งความมั่นใจและช่วยให้เรามีสติมากขึ้นค่ะ

ว่ายน้ำไม่เป็น เรียนได้ Freediving ได้ไหม?

ต้องบอกว่า จริงๆ ทักษะการว่ายน้ำ กับ การฟรีไดฟ์ ไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียวค่ะ คือถ้าไปดูคลิปคนดำฟรีไดฟ์ ก็จะไม่มีใครเตะขาวาดแขนแบบตอนว่ายน้ำใช่มั้ยคะ… ตอนเราฟรีไดฟ์ เราจะไม่ได้ว่ายน้ำค่ะ แม้แต่ตอนที่หายใจเตรียมที่ผิวน้ำก็ไม่ได้ว่ายน้ำ แต่ส่วนตัวนัทคิดว่า ว่ายเป็นก็ดีกว่าค่ะ เพราะมันทำให้เรามั่นใจมากขึ้นในการลงน้ำ และ อาจจะมีว่ายบ้างนิดหน่อย เช่น ว่ายกลับเรือ แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ ทาง Zanook Dive เค้ามีคอร์สปรับพื้นฐานก่อนเรียน ซึ่งครูนุ๊ก แกดังมากๆ เรื่องการปลดล๊อคความกลัวน้ำ คนไม่กล้าลงน้ำ เตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจค่ะ (เคสนี้นัทอาจจะรีวิวด้วยตัวเองไม่ได้ แต่น้องคนที่เรียนทฤษฎีพร้อมกัน เค้ากลัวน้ำแบบฝังใจเลย ก็ปรับได้จริงๆ ค่ะ)

หากใครสนใจ สามารถติดต่อ Zanook Dive ได้ที่ https://www.facebook.com/zanookdive หรือ โทร. 063-5289355
รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.zanookdive.com/


รีวิวเรียน ฟรีไดฟ์ กับ Zanook Dive

ก่อนที่เราจะเรียนภาคปฏิบัติ เราก็จะเรียนทฤษฎีผ่าน Zoom กันก่อนค่ะ ทั้งระบบการหายใจ ทางเดินหายใจ และ หลักการเรื่องแรงดันที่เกี่ยวกับการดำน้ำ การเคลียร์หู เราจะได้เรียนทฤษฎีเรื่องความปลอดภัยต่างๆ ไปจนถึงเทคนิคการกลั้นหายใจค่ะ เป็น 3.5 ชม. ที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วมากๆ ครูนุ๊กยินดีตอบทุกคำถามเลยค่ะ

ในวันนี้ มีคนมาเรียนทาง Zoom พร้อมกัน 5 คนนะคะ ซึ่งมีทั้งคนกลัวน้ำ คนที่ไม่เคยถอดชูชีพลงน้ำเลย (แต่ได้ไปเรียนปลดล็อคปรับพื้นฐานกับครูนุ๊กมาแล้ว) ซึ่งตอนที่ลองเทคนิคการกลั้นหายใจครั้งแรก มีคนทำได้ถึง 2 นาทีเลยค่ะ และทั้งคลาสได้ประมาณ 1.40 นาที กันหมดเลย ครูนุ๊กบอกว่าเป็นค่าเฉลี่ยปกติ แต่พวกเราเซอร์ไพรส์กันมากๆ ค่ะ

จากนั้นก็มาถึงภาคปฏิบัติที่สระค่ะ ในครั้งนี้ นัทเลือกเรียนตัวต่อตัว เพราะตัวนัทเอง เคยหัดมุดดำลงไปในน้ำเองตามสัญชาตญาณมาหลายทีแล้ว ก็ลงได้นะคะ แต่มันผิดทุกอย่างเลยค่ะ ผิดท่า เกร็งตัว ตัวหัก ถ้าผิดต่อไปแบบนี้ก็จะไม่สามารถพัฒนาให้ดำลงไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการลงลึก หรือ ลงนาน ได้ค่ะ

ซึ่งตรงนี้ต้องขอบคุณครูเลย ครูนุ๊กใจเย็นมากๆ เพราะค่อยๆ แก้จุดที่ผิดที่ร่างกายนัทมันจำไปแล้ว ซึ่งอย่างที่ทุกคนทราบดีว่า การแก้ ยากกว่าการเรียนใหม่ค่ะ

วันก่อน เรียนรู้เรื่องอุปกรณ์ในคลาสทฤษฎีไปแล้ว วันนี้มาลองของจริงค่ะ อุปกรณ์หลักๆ ก็จะมี Long Fins หรือตีนกบที่มีความยาวมากกว่าปกติ ซึ่งช่วยให้เราไปเร็วได้ขึ้นค่ะ หน้ากากดำน้ำสำหรับ Freediving ก็จะมีลักษณะเฉพาะ คือจะมีช่องอากาศน้อยกว่าค่ะ เวลาลงลึกจะได้ไม่แน่นจนเกินไป ส่วนสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการฟรีไดฟ์วิ่ง คือ “ร่างกาย” ของเรานั่นเองค่ะ ควรพักผ่อนให้เพียงพอนะคะ

อุปกรณ์พร้อม เราก็เริ่มลงไปฝึกกลั้นหายใจกันอีกทีค่ะ คราวนี้เป็นในน้ำ ซึ่งนี่เป็นสถิติของนัทค่ะ ตื่นเต้นเลย ปกติดูตัวเองในโกโปรไม่เคยลงได้เกิน 30 วิเลยค่ะ ความเข้าใจเรื่องการหายใจนี่สำคัญมากเลยนะคะ เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและยังมีข้อดีอีกหลายอย่างเลยค่ะ

จากนั้นก็จะฝึกเตะขาแบบฟรีไดฟ์ หรือ การตีฟินนั่นเองค่ะ ซึ่งกรณีของนัทนี่ทำครูปวดหัวแน่เลย เพราะปกติจะชินกับการตีฟินแบบตอนสกูบ้าค่ะ พอมาเจอแบบนี้ก็ต้องฝึกค่า

หากดูจากภาพ จะเห็นเลยว่า ท่ายังไม่ได้สวยเป๊ะ 100% เพราะร่างกายยังจำการใช้กล้ามเนื้อที่ผิดๆ อยู่ ยอมรับเลยว่าครูใจเย็นมากค่ะ

จากนั้นก็จะเป็นสกิลการมุดน้ำแบบ Duck Dive และการเคลียร์หูค่ะ ลงไปสุดพื้นสระ ซึ่งพอเริ่มทำถูกท่าแล้ว ก็จะเริ่มรู้สึกว่ามันใช้แรงน้อยมาก และ เรานิ่งมากเลยค่ะ รู้สึกไม่ฝืนเลย ต่างจากที่เคยทำมามากๆ เลยค่ะ

หลังจากนั้นเราก็จะเรียนการช่วยเหลือนักดำน้ำที่อาจหมดสติใต้น้ำ ซึ่งมีหลายกรณีค่ะ เราจะเข้าใจระบบบัดดี้ และวิธีการ rescue ในกรณีต่างๆ ซึ่งอันนี้ตอนแรกนัทก็ไม่ทราบว่ามีในหลักสูตร ก็รู้สึกว่ามีประโยชน์มากๆ เลยค่ะ

สำหรับคอร์สนี้ ก็ทำให้นัทเข้าใจหลายอย่างมากขึ้น และคิดถูกมากๆ ที่มาเรียนโดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยค่ะ เพราะดำน้ำใครก็ดำได้ แต่ดำให้ปลอดภัย นัทว่าอาจจะต้องมาเรียนจริงๆ ค่ะ นัทเองยังต้องแก้จุดที่ผิดอีกหลายจุด ก็คงจะมาเทรนและฝึกไปเรื่อยๆ ค่า

วันนี้ ต้องขอบคุณครูนุ๊กแห่ง Zanook Dive อีกทีนะคะ บอกเลยว่า ใครว่ายน้ำไม่เป็น มาปรับพื้นฐานก่อน ใครกลัวน้ำลึก มาเข้าคอร์สปลดล๊อคก่อน แล้วค่อยเริ่มเรียน Freedive ก็ได้ค่ะ ครูนุ๊กเคยสอนทั้งสกูบ้าและฟรีไดฟ์ และยังเป็นอดีตวิศวกรแท่นกลางทะเล ทฤษฎีแน่น ปฏิบัติเป๊ะ ความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่ง เรียนแล้วหายห่วงเลยค่ะ แนะนำจริงๆ ค่ะ

ติดต่อ Zanook Dive สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/zanookdive หรือ โทร. 063-5289355
รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.zanookdive.com/


หากชอบรีวิว อย่าลืมกดไลค์เพจ และ ติดตามไอจี @eatchillwander ด้วยนะคะ ขอบคุณมากๆ ค่า

ติดตาม Eat Chill Wander ได้ที่
Facebook : Eat Chill Wander
Instagram : @eatchillwander
Twitter : @eatchillwander
Youtube : Eat Chill Wander
Website : www.eatchillwander.com

error: